ยินดีต้อนรับเข้าสู่ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้น่ะค่ะ เรามีความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับมาแบ่งปันกันชมและเรียนรู้/strong>>

วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

พระคุณแม่

พระคุณแม่
คืออะไร ใครรู้บ้าง

คือ โคมทอง ส่องทาง สว่างไสว
คือ ผู้สร้าง ทางเดิน เจริญไกล
คือ อุ่นไอ ผ้าห่ม ต้านลมแรง
คือ ร่มไทร ไพศาล กั้นแดดฝน
คือ สายชล หล่อเลี้ยงให้ ไม่เหือดแห้ง
คือ มิตรแท้ ในเรือน ไม่เปลี่ยนแปลง
คือ กำแพง ปกป้อง ผองพาลภัย
คือ อาจารย์ คนแรก แจกความรู้
คือ แพทย์ผู้ ป้อนยา รักษาไข้
คือ ฐานรอง อารมณ์ คราตรมใจ
คือ คนใช้ ติดตาม ประจำนาน
คือ บันได ก้าวเดิน เผชิญโลก
คือ ผู้โบก ธงชัย เชียรให้ผ่าน
คือ นักร้อง กล่อมขวัญ บรรโลมนาน
คือ สะพาน เหนียวแน่น เชื่อมแผ่นดิน
คือ เนื้อนา บุญของ ผองลูกแน่
คือ รักแท้ จากใจ ไม่สร่างสิ้น
คือ ขุมคลัง เก็บให้ใช้ เป็นอาจิณ
คือ พรหมินทร์ สูงส่ง ดำรงธรรม
คือ ผู้ตาย แทนลูก ได้ทุกเมื่อ
คือ ก้อนเนื้อ นมสด รสหวานฉ่ำ
คือ รถ เรือ ลากจูง ผู้มุ่งนำ
พระคุณล้ำ เลิศแท้ โอ้ แม่ เอย

สำนึก"วันเกิด"

สำนึก “วันเกิด”
“งานวันเกิด ยิ่งใหญ่ ใครคนนั้น
ฉลองกัน ในกลุ่ม ผู้ลุ่มหลง
หลงลาภยศ สรรเสริญ เพลินทะนง
วันเกิดส่ง ชีพสั้น เร่งวันตาย
อีกมุมหนึ่ง ซึ่งเหงา น่าเศร้าแท้
หญิงแก่ๆ นั่งหงอย และคอยหา
โอ้...วันนั้น เป็นวัน อันตราย
แม่คลอดสาย โลหิต แทบปลิดชนม์
วันเกิดลูก เกือบคล้าย วันตายแม่
เจ็บท้องแท้ เท่าไหร่ มิได้บ่น
กว่าอุ้มท้อง กว่าจะคลอด รอดเป็นคน
เติบโตจน บัดนี้ นี่เพราะใคร
แม่จวนเจียน ขาดใจ ในวันนั้น
กลับเป็นวัน ลูกฉลอง กันผ่องใส
ได้ชีวิต แล้วก็หลง ระเริงใจ
ลืมผู้ให้ ชีวิต อนิจจา
ไฉนจึง เรียกกัน เป็น “วันเกิด”
วันผู้ให้ กำเนิด จะถูกกว่า
คำอวยพร ที่เขียน ควรเปลี่ยนมา
ให้มารดา คุณเป็นสุข จึงถูกแท้
เลิกจัดงาน วันเกิด เสียเถิดนะ
ควรที่จะ คุกเข่า กราบเท้าแม่
ระลึกถึง พระคุณ อบอุ่นแท้
อย่ามัวแต่ จัดงาน ประจานตัว











วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2552



ตรุษจีนในประเทศไทย
ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันปีใหม่

วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ หรือ ตี่จู๋เอี๊ย ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันที่แล้ว
วันไหว้ คือ วันสิ้นปี จะมีการไหว้ 3 ครั้ง คือ
ตอนเช้ามืดจะไหว้ ไป๊เล่าเอี๊ย เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์ 3 อย่าง (ซาแซ ได้แก่ หมูสามชั้นต้ม ไก่ เป็ด ปรับเปลี่ยนเป็นชนิดอื่นได้ หรือมากกว่านั้นได้จนเป็นเนื้อสัตว์ห้าชนิด) เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
ตอนสาย จะไหว้ไป๊เป้บ๊อ คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว
ตอนบ่าย จะไหว้ ไป๊ฮ้อเฮียตี๋ เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเป็นสิริมงคล
วันขึ้นปีใหม่ หรือ วันเที่ยว หรือ วันถือ คือวันที่หนึ่งของเดือนที่หนึ่งของปี (ชิวอิก) วันนี้ ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน คือ ไป๊เจีย คือ การไปไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะออกเสียงภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "กา" ซึ่งไปพ้องกับคำว่าทอง เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำโชคดีไปให้ จะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น

บทความการศึกษาที่น่ารู้

การศึกษา คือการสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นมีลักษณะนิสัยจิตใจที่ดีงาม มีความพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อตนเองและสังคม มีความพร้อมที่จะ ประกอบการงานอาชีพได้ การศึกษาช่วยให้คนเจริญงอกงาม ทั้งทางปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม การศึกษาจึงเป็นความจำเป็นของชีวิตอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากความจำเป็น ด้านที่อยู่อาศัย อาหารเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค การศึกษาจึงเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต เป็นปัจจัยที่จะช่วยแก้ปัญหาทุก ๆ ด้านของชีวิตและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตในโลกที่มีกระแสความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเท คโนโลยีอย่าง รวดเร็ว และส่งผลกระทบให้วิถีดำรงชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกันการศึกษายิ่งมีบทบาทและความจำเป็น มากขึ้นด้วย การศึกษาที่จะช่วยให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี มีความสุข จะต้องมีลักษณะ ที่สำคัญดังนี้
1. เป็นการศึกษาที่ให้ความรู้ และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ เช่น ความรู้และทักษะทางด้านภาษา การคิดคำนวณ ความเข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นต้น สภาพปัจจุบันมีความจำเป็นต้องสนับสนุนให้ทุกคนได้รับการศึกษาขั้น พื้นฐานอย่างน้อย 12 ปี จึงจะเพียงพอกับความต้องการและความจำเป็นที่จะยกระดับ คุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
2. การศึกษาทำให้คนเป็นคนฉลาด เป็นคนมีเหตุผล คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น และ รู้จักวิธีแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และเพื่อการงานอาชีพ
3. การศึกษาต้องสร้างนิสัยที่ดีงาม ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนโดยเฉพาะนิสัยรักการ เรียนรู้ และนิสัยอื่น ๆ เช่นความเป็นคนซื่อสัตย์ ขยัน อดทน รับผิดชอบ เป็นต้น
4. การศึกษาต้องสร้างความงอกงามทางร่างกาย มีสุขภาพพลามัยที่ดี รู้จัก รักษาตนให้แข็งแรง ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ และสารพิษ
5. การศึกษาต้องทำให้ผู้เรียนไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวมให้ความร่วมมือกับผู้อื่นในสังคม อยู่รวมกับผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยสร้างสังคมที่สงบเป็นสุข รักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน
6. การศึกษาต้องทำให้คนมีทักษะการงานอาชีพที่เพียงพอกับการเข้าสู่การงานอาชีพ รู้จักการประกอบอาชีพและรู้จักพัฒนาการงานอาชีพ
ทั้ง 6 ประการ เป็นพื้นฐานทางการศึกษาที่จำเป็น ที่คนจะต้องได้รับรู้อย่างทั่วถึงทุกคน ถ้าทุกคนได้รับอย่างครบถ้วน เพียงพอก็จะทำให้เกิดทักษะลักษณะและนิสัยที่พึงประสงค์ได้ การศึกษาจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นเพียงสำหรับคนบางคน แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่ขาดความพร้อมในปัจจัยต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ ยิ่งมีความ จำเป็นมากที่สุด
คนที่ขาดความพร้อมต้องการการศึกษามาก มักเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมตลอดเวลา การศึกษาที่ได้รับก็มักเป็นบริการที่กระท่อนกระแท่น ไม่เพียงพอกับการเรียนรู้ที่เหมาะสม ไม่พอแม้เพียงเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย ตรงข้ามกับผู้ที่มีความพร้อมพอจะช่วยตนเองได้ กลับได้รับบริการที่มีคุณภาพและปริมาณที่ดีกว่ามาก ดังจะเห็นได้จากสถานศึกษาในเมืองกับในชนบท ที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในทุก ๆ ด้าน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ การศึกษานอกจาก จะไม่สามารถสร้างความพร้อมที่เพียงพอกับผู้ต้องการแล้ว ยังส่งเสริมให้ช่องว่างระหว่าง คนรวยกับคนจนแตกต่างกันมากขึ้นด้วย
เพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์การศึกษาเสียใหม่ให้หันมาให้ความสำคัญกับคนยากจนคนเสียเปรียบ และคนด้อยโอกาสให้มากขึ้นทรัพยากรของรัฐต้องนำมาใช้จ่าย เพื่อปรับปรุงบริการการศึกษา สำหรับคนยากจนให้ดีขึ้นเป็นพิเศษ ให้เพียงพอกับการสร้างลักษณะสิสัยและความพร้อมที่จำเป็น ถ้าคนยากจน คนเสียเปรียบ คนด้อยโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม และมีคุณภาพ แล้ว ปัญหาต่าง ๆ ในบ้านเมืองก็จะลดน้อยลงไปโดยปริยายและยังทำให้เขากลายเป็นกำลัง สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดีด้วย
การศึกษานอกจากเป็นปัจจัยที่ 5 แล้ว ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต และเป็นปัจจัยเพื่อความรุ่งเรืองของประเทศชาติในอนาคตอีกด้วย เราจงฝากความหวังของชาติ ด้วยการพัฒนาการศึกษากันเถิด

16 มกราคม "วันครู"

16 มกราคม ของทุกปี เป็นวันที่ถูกบัญญัติไว้ เพื่อรำลึกและยกย่องวิชาชีพที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศชาติ อย่าง "วิชาชีพครู"

ซึ่งในวันนี้ วิชาชีพครู ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายให้เป็น "วิชาชีพชั้นสูง" ตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ มีระบบ กระบวนการผลิต และการพัฒนาครู คณาจารย์ และ บุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง

"ให้มีสภาวิชาชีพเพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ให้มีองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู ให้มีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนครู ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของครู ให้มีการพัฒนาคณาจารย์ และให้ระดมทรัพยากรบุคคลในท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้ในการจัดการศึกษา"

เมื่อกำหนดไว้ในพ.ร.บ.เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมจะต้องส่งผลให้ "ครู" พัฒนาและปรับตนเองให้สมกับความเป็น "วิชาชีพชั้นสูง" ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้สูง มีมาตรฐานในการปฏิบัติงานสูงขึ้น มีการติดตาม ศึกษา ค้นหาความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งความรู้ทางคณิตศาสตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ คุณธรรม จริยธรรม เศรษฐศาสตร์ ดนตรี สุขภาพ อนามัย ฯลฯ ทั้งความรู้ที่เกิดขึ้นในและต่างประเทศ

แต่หลังจากที่ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ ล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน "วิชาชีพครู" พัฒนาตนเองจนกลายเป็น "วิชาชีพชั้นสูง" ได้แล้วหรือยัง เป็นคำถามที่ท้าทายคำตอบอยู่ไม่น้อย

ดร.ดิเรก พรสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการคุรุสภา หน่วยงานที่เสมือนเป็นสภาวิชาชีพ มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลเพื่อนครูทั้งในด้านคุณธรรม จริยธรรม จนไปถึงมาตรฐานวิชาชีพของครู เปิดเผยว่า "ถ้าพวกเรายอมรับความจริง คงต้องตอบตามตรงว่า กระบวนการการผลิตครู ยังไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อเข้าสู่วิชาชีพได้"



ดร.ดิเรกกล่าวต่อว่า ปัญหาหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวป้อนเข้าของระบบการผลิตครู โดยเฉพาะนักเรียนที่จบ ม.6 และสมัครเข้าเรียนครู มีคุณภาพต่ำ นักเรียนชั้นเยี่ยมของประเทศที่จบ ม.6 แล้วสมัครเข้าเรียนครูมีจำนวนน้อยมาก หรืออาจไม่มีเลย ดังนั้น คุณภาพของนักเรียนครู จึงเป็นปัญหาสำคัญยิ่งของระบบการผลิตครู"

"อีกทั้งคุณภาพของคณาจารย์คณะครุศาสตร์ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตครุศาสตร์เช่นกัน เพราะมีเพียงคณาจารย์ของคณะครุศาสตร์ไม่กี่คนที่เคยเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นเยี่ยมของประเทศ"

อีกทั้งเมื่อเข้าสู่วิชาชีพครูแล้ว ก็ยังมีอุปสรรคตามมาอีกมาก โดย ดร.ดิเรก กล่าวด้วยว่า ยอมรับว่า หลังจากที่มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ดังกล่าว และกำหนดให้ครูมีการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ทำให้ทุกวันนี้ครูต้องทำงานหนัก ส่วนหนึ่งเพราะระบบบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การประเมินเลื่อนวิทยฐานะของครูที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ทำให้ครูทำงานหนักแต่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนน้อยมาก เพราะเวลาที่ครูอยากเลื่อนวิทยฐานะ ทุกคนแม้แต่ผู้บริหารเองก็รู้ว่าครูต้องใช้เวลาที่จะสอนหนังสือไปทำผลงาน เพื่อให้มีตำรา เอกสาร หรือผลงานวิชาการ ประกอบการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ

แม้ว่าคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) พยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง จึงทำให้ครูมีเวลาให้กับการเรียนการสอนของนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากนั้นระบบการพัฒนาครู มีแต่พัฒนาแล้วเอาความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้มากน้อย

"ผมคิดว่าแนวทางที่น่าจะทำให้พัฒนาครูเกิดผลและนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ควรเปลี่ยนมาใช้การอบรม พาครูไปดูงานการเรียนการสอนของครูดีเด่น ที่สอนเก่งๆ ว่าเขามีการเตรียมการสอน วิธีการสอนอย่างไร ซึ่งวิธีลักษณะแบบนี้ ครูดูแล้วจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าการที่เอาครูไปนั่งฟังคำบรรยายในห้องประชุม อย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน และเมื่อครูไปดูงานมาแล้วก็ให้มีเวลาได้พิจารณาว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้อย่างไร ให้ไปทำแผนปฏิบัติการนำความรู้จากการอบรมไปใช้ รวมทั้งมีการติดตามผล ว่าเมื่อใช้แล้วเป็นอย่างไร หากได้ผลดีก็ควรมีการให้รางวัล หรือพิจารณาความดีความชอบ เงินเดือน ให้สอดคล้องกับงาน เพื่อเป็นกำลังใจให้กับครู โดยเฉพาะครูที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล"

ในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ดร.ดิเรก กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "ปัญหาในการพัฒนาวิชาชีพครูที่สั่งสมมานานจนถึงขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยกเครื่องการพัฒนาวิชาชีพครูครั้งใหญ่เพื่อให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของประเทศนั้น โดยสิ่งสำคัญคือหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะ รมว.ศึกษาธิการ จะต้องลงมากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่เพียงแต่ปล่อยให้หน่วยงานระดับท้องถิ่น อย่างเขตพื้นที่กำกับดูแลกระบวนการผลิตครูเป็นความรับผิดชอบโดยอิสระของคณะครุศาสตร์เท่านั้น

ในขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่ ก็ประกาศชัดเจนเนื่องในโอกาสการจัดงานวันครู ว่า กระทรวงศึกษาธิการจะสร้างขวัญกำลังใจให้ครู อาจารย์ โดยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เรื่องแรกคือ การตั้งกองทุนพัฒนาคุณ ภาพชีวิตครู เพื่อดูแลช่วยเหลือลดภาระของครู รวมถึงปัญหาหนี้สินครูด้วย นอกจากนี้จะมีการสร้างหลักประกันเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูต้องการเป็นอันดับต้นๆ โดยที่ผ่านมาได้นำร่องไปแล้วในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการทำประกันชีวิตให้กับครู มีเบี้ยประกัน 500,000 บาท และได้มอบหมายให้ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปพิจารณาในการทำประกันชีวิตให้กับครูเพิ่มในกรณีอื่นๆ ต่อไป

"นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการจะสนับสนุนให้ครูได้ทำหน้าที่สอนเด็กอย่างเต็มที่ ไม่ต้องไปทำงานธุรการหรือภารกิจอื่น ด้วยโครงการคืนครูให้นักเรียน และการสร้างแรงจูงใจให้คนดี คนเก่งมาเป็นครู พร้อมทั้งสนับสนุนความก้าวหน้า สวัสดิการและวิทยฐานะของครู ด้วยการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะให้สอดคล้องกับคุณภาพการศึกษามากขึ้น แทนที่จะเน้นเรื่องการทำเอกสาร"

รมว.ศึกษาธิการ ยังกล่าวฝากไปยังเพื่อนครูทั่วประเทศด้วยว่า "สิ่งที่อยากเห็นและเชื่อว่าสังคมก็อยากเห็น คือ ครูเป็นครูมืออาชีพ มีอุดมการณ์ มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความเสียสละ และอุทิศตนเพื่อการศึกษา สอนศิษย์ให้มีความรู้ มีคุณธรรม และมีคุณภาพ"

เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกันตามที่สังคมคาดหวังให้ "วิชาชีพครู" เป็นวิชาชีพชั้นสูง และเป็นกำลังสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต