วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
โครงการทางคู่ขนาน
โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยบัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และได้พระราชทานพระราชดำริในแนวทางตลอดจนวิธีการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลสำเร็จมาแล้วอย่างต่อเนื่อง " โครงการพระราชดำริทางคู่ขนานลอยฟ้า " เป็นอีกหนึ่งโครงการพระราชดำริที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณที่ทรงมองการณ์ไกลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจราจรและน้ำพระทัยอันเปี่ยมล้น ด้วยพระเมตตากรุณาที่ทรงมีต่อพสกนิกร เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯเยี่ยมพระอาการประชวรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่โรงพยาบาลศิริราชช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๓๘ ได้ทอดพระเนตรเห็นปัญหาการจราจรที่ติดขัดเป็นอย่างมากที่บริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ต่อเนื่องไปจนถึงถนนบรมราชชนนี จึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าจากเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าไปยังบริเวณสถานีขนส่งสายใต้แห่งใหม่ อีกทั้งยังทรงมีพระราชดำรัสเพิ่มเติมถึงการจราจรขาออกนอกเมืองตอนหนึ่งว่า"... หากสร้างสะพานยกระดับขาออกให้ยาวเลยไปจากขนส่งสายใต้ จะมีประโยชน์มาก ...."จากแนวพระราชดำรินี้ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ( ร้อยเอกกฤษฏา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ) และปลัดกรุงเทพมหานคร ( นายประเสริฐ สมะลาภา ) มาประชุมร่วมกันเพื่อสนองพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาการจราจรให้ได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผลการประชุมสรุปได้ว่า กรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าจากแยกอรุณอัมรินทร์ถึงคลองบางกอกน้อย ระยะทางประมาณ ๓।๒ กิโลเมตร และกรมทางหลวงรับผิดชอบก่อสร้างจากคลองบางกอกน้อยไปจนถึงแยกพุทธมณฑลสาย ๒ โดยให้รูปแบบสะพาน เสาและคานมีลักษณะเป็นรูปแบบเดียวกันหมด เป็นระยะทาง ๙.๔ กิโลเมตรและจากบริเวณทางยกระดับสิรินธรไปจนเลยทางแยกพุทธมณฑลสาย ๒ อีก ๑ กิโลเมตร นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังได้ก่อสร้างขยายช่องจราจรระดับพื้นราบจากเดิมที่มี ๘ ช่องจราจร เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ ช่องจราจรพร้อมทั้งมีการปลูกต้นไม้ที่เกาะกลาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบตามคำกราบบังคมทูล และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์เริ่มโครงการดังกล่าวในวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๓๙ และเสด็จฯทรงเปิดทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๑ และทรงประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จฯไปตามทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี หลังจากเสด็จพิธีตัดริบบิ้นแถบแพรเปิดทางแล้ว นายศรีสุข จันทรางศุ อธิบดีกรมทางหลวงสมัยนั้น ได้เล่าในภายหลังถึงพระกระแสรับสั่งว่าทรงมีพระราชดำรัสว่า " การก่อสร้างเส้นทางสายนี้ทำได้ยาก การจราจรมีปัญหา ๒ หน่วยงานร่วมกันทำดีมาก ทำสำเร็จได้ ขอชมเชย " นอกจากนี้ยังทรงถามถึงเรื่องทางระบายน้ำบนสะพานว่าทำอย่างไรและ " อยากถามอะไรหน่อย อยากรู้มานาน การระบายน้ำ ระบายอย่างไร " ซึ่งอธิบดีกรมทางหลวงได้กราบบังคมทูลถวายรายงาน จากนั้น ทรงพระกรุณาฉายภาพอธิบดีกรมทางหลวงและปลัดกรุงเทพมหานครที่ยืนคู่กัน ณ บริเวณ Joint ซึ่งเป็นที่ปลาบปลื่มแก่บุคคลทั้งคู่ยิ่งนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเล่าว่า พระองค์เสด็จฯแปรพระราชฐานไปหัวหินตั้งแต่ถนนยังไม่ลาดยาง จนมีการพัฒนาเรื่อยมา ขณะนี้ สามารถเสด็จฯ ไปหัวหินได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นสำหรับรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงนั้น เริ่มตั้งแต่ตอนชุมทางต่างระดับสิรินธร-แยกพุทธมณฑล กม.๓+๓๘๖ ถึง กม.๑๓+๒๐๐ บนทางหลวงหมายพิเศษหมายเลข ๓๓๘ สายบางกอกน้อย - นครชัยศรี ระยะทางประมาณ ๙.๔ กิโลเมตร โดยลักษณะโครงการเป็นสะพานยกระดับสูง ๑๕.๐๐ เมตร กว้าง ๑๙.๕๐ เมตร ขนาด ๔ ช่องจราจร แยกทิศทางไปกลับข้างละ ๒ ช่องจราจร กว้างช่องละ ๓.๕๐ เมตร มีทางขึ้นลง ๒ แห่ง นอกจากนี้ ยังขยายถนนในระดับพื้นล่างเพิ่มจาก ๘ ช่องจราจร แบ่งเป็น ๑๒ ช่องจราจร แบ่งเป็นช่องทางด่วน ๖ ช่องจราจร กว้างช่องละ ๓.๕๐ เมตร และทางคู่ขนานด้านละ ๓ ช่องจราจร กว้างช่องละ ๓.๐๐ เมตร พร้อมทั้งก่อสร้างสะพานกลับรถ ( U- Turn ) อีก ๒ แห่งเพื่อใช้กลับรถด้วยกรมทางหลวงเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเอง โดยว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการ ๓ ราย คือบริษัทบุญชัยพาณิชย์ ( ๑๙๗๙ ) จำกัด ก่อสร้างตอนที่ 1 บริษัท พี พี ดี คอนสตรัคชั่น จำกัด ก่อสร้างตอนที่ ๒ และบริษัทอิตาเลี่ยนไทยดีเวล้อปเม้นต์ จำกัด ( มหาชน ) ก่อสร้างตอนที่ ๓ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น ๔,๔๖๑,๖๐๙,๖๘๐ บาท ระยะเวลาในการก่อสร้าง ๖๐๐ วัน เริ่มต้นสัญญาวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๙ สิ้นสุดสัญญาวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๑ หลังจากที่โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าจากชุมทางต่างระดับสิรินธร - แยกพุทธมณฑลสาย ๒ แล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ได้ช่วยระบายการจราจรจากพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ผ่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สู่ถนนบรมราชชนนี ถนนสิรินธร ทางหลวงพิเศษสายบางกอกน้อย - นครชัยศรี ให้สามารถสัญจรไปมาด้วยความสะดวก รวดเร็วและมีความปลอดภัยยิ่งขี้น เนื่องจากมีช่องจราจรรองรับถึง ๑๖ ช่องจราจร และยิ่งเพิ่มความคล่องตัวให้กับยานพาหนะที่จะใช้เส้นทางนี้เดินทางสู่ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคกลางตอนล่าง และพื้นที่ระหว่างชานเมืองอื่น ๆ ในบริเวณดังกล่าว ให้มีการจราจรสะดวก คล่องตัวเป็นการช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและปัญหาสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากการจราจรติดขัดได้เป็นอย่างดี และนี่คือความปลาบปลี้มและภาคภูมิใจของกรมทางหลวง ที่ได้มีโอกาสสนองพระกรุณาธิคุณพระบาทสทเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสร้างทางตามแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรคับคั่งของกรุงเทพ ฯhttp://202.28.94.55/webcontest49/web/g46/main.html
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น