ยินดีต้อนรับเข้าสู่ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้น่ะค่ะ เรามีความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับมาแบ่งปันกันชมและเรียนรู้/strong>>

วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2552

16 มกราคม "วันครู"

16 มกราคม ของทุกปี เป็นวันที่ถูกบัญญัติไว้ เพื่อรำลึกและยกย่องวิชาชีพที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศชาติ อย่าง "วิชาชีพครู"

ซึ่งในวันนี้ วิชาชีพครู ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายให้เป็น "วิชาชีพชั้นสูง" ตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ มีระบบ กระบวนการผลิต และการพัฒนาครู คณาจารย์ และ บุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง

"ให้มีสภาวิชาชีพเพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ให้มีองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู ให้มีกฎหมายว่าด้วยเงินเดือนครู ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของครู ให้มีการพัฒนาคณาจารย์ และให้ระดมทรัพยากรบุคคลในท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้ในการจัดการศึกษา"

เมื่อกำหนดไว้ในพ.ร.บ.เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมจะต้องส่งผลให้ "ครู" พัฒนาและปรับตนเองให้สมกับความเป็น "วิชาชีพชั้นสูง" ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้สูง มีมาตรฐานในการปฏิบัติงานสูงขึ้น มีการติดตาม ศึกษา ค้นหาความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งความรู้ทางคณิตศาสตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ คุณธรรม จริยธรรม เศรษฐศาสตร์ ดนตรี สุขภาพ อนามัย ฯลฯ ทั้งความรู้ที่เกิดขึ้นในและต่างประเทศ

แต่หลังจากที่ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ ล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน "วิชาชีพครู" พัฒนาตนเองจนกลายเป็น "วิชาชีพชั้นสูง" ได้แล้วหรือยัง เป็นคำถามที่ท้าทายคำตอบอยู่ไม่น้อย

ดร.ดิเรก พรสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการคุรุสภา หน่วยงานที่เสมือนเป็นสภาวิชาชีพ มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลเพื่อนครูทั้งในด้านคุณธรรม จริยธรรม จนไปถึงมาตรฐานวิชาชีพของครู เปิดเผยว่า "ถ้าพวกเรายอมรับความจริง คงต้องตอบตามตรงว่า กระบวนการการผลิตครู ยังไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเพื่อเข้าสู่วิชาชีพได้"



ดร.ดิเรกกล่าวต่อว่า ปัญหาหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวป้อนเข้าของระบบการผลิตครู โดยเฉพาะนักเรียนที่จบ ม.6 และสมัครเข้าเรียนครู มีคุณภาพต่ำ นักเรียนชั้นเยี่ยมของประเทศที่จบ ม.6 แล้วสมัครเข้าเรียนครูมีจำนวนน้อยมาก หรืออาจไม่มีเลย ดังนั้น คุณภาพของนักเรียนครู จึงเป็นปัญหาสำคัญยิ่งของระบบการผลิตครู"

"อีกทั้งคุณภาพของคณาจารย์คณะครุศาสตร์ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตครุศาสตร์เช่นกัน เพราะมีเพียงคณาจารย์ของคณะครุศาสตร์ไม่กี่คนที่เคยเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นเยี่ยมของประเทศ"

อีกทั้งเมื่อเข้าสู่วิชาชีพครูแล้ว ก็ยังมีอุปสรรคตามมาอีกมาก โดย ดร.ดิเรก กล่าวด้วยว่า ยอมรับว่า หลังจากที่มีการประกาศใช้พ.ร.บ.ดังกล่าว และกำหนดให้ครูมีการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ทำให้ทุกวันนี้ครูต้องทำงานหนัก ส่วนหนึ่งเพราะระบบบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การประเมินเลื่อนวิทยฐานะของครูที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ทำให้ครูทำงานหนักแต่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนน้อยมาก เพราะเวลาที่ครูอยากเลื่อนวิทยฐานะ ทุกคนแม้แต่ผู้บริหารเองก็รู้ว่าครูต้องใช้เวลาที่จะสอนหนังสือไปทำผลงาน เพื่อให้มีตำรา เอกสาร หรือผลงานวิชาการ ประกอบการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ

แม้ว่าคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) พยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง จึงทำให้ครูมีเวลาให้กับการเรียนการสอนของนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากนั้นระบบการพัฒนาครู มีแต่พัฒนาแล้วเอาความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้มากน้อย

"ผมคิดว่าแนวทางที่น่าจะทำให้พัฒนาครูเกิดผลและนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ควรเปลี่ยนมาใช้การอบรม พาครูไปดูงานการเรียนการสอนของครูดีเด่น ที่สอนเก่งๆ ว่าเขามีการเตรียมการสอน วิธีการสอนอย่างไร ซึ่งวิธีลักษณะแบบนี้ ครูดูแล้วจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าการที่เอาครูไปนั่งฟังคำบรรยายในห้องประชุม อย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน และเมื่อครูไปดูงานมาแล้วก็ให้มีเวลาได้พิจารณาว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้อย่างไร ให้ไปทำแผนปฏิบัติการนำความรู้จากการอบรมไปใช้ รวมทั้งมีการติดตามผล ว่าเมื่อใช้แล้วเป็นอย่างไร หากได้ผลดีก็ควรมีการให้รางวัล หรือพิจารณาความดีความชอบ เงินเดือน ให้สอดคล้องกับงาน เพื่อเป็นกำลังใจให้กับครู โดยเฉพาะครูที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล"

ในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ดร.ดิเรก กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "ปัญหาในการพัฒนาวิชาชีพครูที่สั่งสมมานานจนถึงขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยกเครื่องการพัฒนาวิชาชีพครูครั้งใหญ่เพื่อให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของประเทศนั้น โดยสิ่งสำคัญคือหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะ รมว.ศึกษาธิการ จะต้องลงมากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่เพียงแต่ปล่อยให้หน่วยงานระดับท้องถิ่น อย่างเขตพื้นที่กำกับดูแลกระบวนการผลิตครูเป็นความรับผิดชอบโดยอิสระของคณะครุศาสตร์เท่านั้น

ในขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่ ก็ประกาศชัดเจนเนื่องในโอกาสการจัดงานวันครู ว่า กระทรวงศึกษาธิการจะสร้างขวัญกำลังใจให้ครู อาจารย์ โดยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เรื่องแรกคือ การตั้งกองทุนพัฒนาคุณ ภาพชีวิตครู เพื่อดูแลช่วยเหลือลดภาระของครู รวมถึงปัญหาหนี้สินครูด้วย นอกจากนี้จะมีการสร้างหลักประกันเรื่องความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูต้องการเป็นอันดับต้นๆ โดยที่ผ่านมาได้นำร่องไปแล้วในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการทำประกันชีวิตให้กับครู มีเบี้ยประกัน 500,000 บาท และได้มอบหมายให้ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปพิจารณาในการทำประกันชีวิตให้กับครูเพิ่มในกรณีอื่นๆ ต่อไป

"นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการจะสนับสนุนให้ครูได้ทำหน้าที่สอนเด็กอย่างเต็มที่ ไม่ต้องไปทำงานธุรการหรือภารกิจอื่น ด้วยโครงการคืนครูให้นักเรียน และการสร้างแรงจูงใจให้คนดี คนเก่งมาเป็นครู พร้อมทั้งสนับสนุนความก้าวหน้า สวัสดิการและวิทยฐานะของครู ด้วยการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะให้สอดคล้องกับคุณภาพการศึกษามากขึ้น แทนที่จะเน้นเรื่องการทำเอกสาร"

รมว.ศึกษาธิการ ยังกล่าวฝากไปยังเพื่อนครูทั่วประเทศด้วยว่า "สิ่งที่อยากเห็นและเชื่อว่าสังคมก็อยากเห็น คือ ครูเป็นครูมืออาชีพ มีอุดมการณ์ มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีความเสียสละ และอุทิศตนเพื่อการศึกษา สอนศิษย์ให้มีความรู้ มีคุณธรรม และมีคุณภาพ"

เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกันตามที่สังคมคาดหวังให้ "วิชาชีพครู" เป็นวิชาชีพชั้นสูง และเป็นกำลังสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น: